ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต

เผยแพร่เมื่อวันที่

ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต

ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต


นักปฏิบัติควรรู้อาการของจริตที่จิตของตน และคนที่คบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติ เพื่อการละด้วยการเจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณอารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่าน ก็จะได้น้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือหักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อให้ได้ฌานสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน

ในการเจริญสมถภาวนานั้น มีอารมณ์สำหรับเพ่ง ที่เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน รวม 7 หมวด 
เป็นกรรมฐาน 40 คือ 

หมวดที่ 1 กสิณ 10 กัมมัฏฐานว่าด้วย ทั้งปวง 
หมวดที่ 2 อสุภะ 10 กัมมัฏฐานว่าด้วย ไม่งาม 
หมวดที่ 3 อนุสสติ 10 กัมมัฏฐานว่าด้วย ตามระลึก 
หมวดที่ 4 อัปปมัญญา 4 กัมมัฏฐานว่าด้วย แผ่ไปไม่มีประมาณ 
หมวดที่ 5 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 กัมมัฏฐานว่าด้วย หมายรู้ความปฏิกูลในอาหาร 
หมวดที่ 6 จตุธาตุววัตถานะ 1 กัมมัฏฐานว่าด้วย กำหนดธาตุทั้ง ๔ 
หมวดที่ 7 อรูป 4 กัมมัฏฐานว่าด้วย อรูปกัมมัฏฐาน

แบ่งกัมมัฏฐาน 40 ให้เหมาะแก่จริต

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึง ความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ว่า เมื่อใดอารมณ์จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใด ก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป กรรมฐาน 40 กองที่ท่านได้จำแนกไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตมีดังนี้

1. ราคะจริต

คนราคะจริต จะเป็นคนรักสวยรักงามแต่งตัวเรียบร้อย ชุดแต่งกายก็สะอาด ไม่ชอบความรุนแรง กินอาหารดีและสะอาด จัดที่นอนให้ดีแล้วค่อยบรรจงนอนนอนก็เป็นระเบียบไม่เคว้งคว้าง เก้งก้าง เวลานอนสีหน้าก็คงงดงามไม่ย่นยู่ เวลาตื่นก็ค่อยๆบรรจงตื่น เก็บที่นอนเรียบร้อย เวลาเดินก็อิริยาบถสม่ำเสมอไม่รีบร้อน บรรจงวางเท้าลงอย่างเป็นระเบียบ แต่รอยเท้าคนราคะจริตจะเว้ากลาง

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนราคะจริต คือ

ราคจริตนี้ กรรมฐานที่เหมาะคือ อสุภกรรมฐาน 10 กับกายคตนานุสสติ 1

เมื่ออารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นแก่อารมณ์จิต จิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุที่ชมชอบว่าสวยงดงาม กลายเป็นของน่าเกลียดโสโครกโดยกฎของธรรมดา จนจิตใจไม่มั่วสุมกับความงามแล้ว ก็พิจารณาวิปัสสนาญาณโดยยกเอาขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา

สถานที่ปฏิบัติก็ให้เป็นที่ร้างผุพัง คนที่ถวายข้าวให้ฉันก็เป็นคนขี้เหล่ พูดจาไม่ไพเราะ ทางเดินก็ให้ขรุขระ ผู้เป็นพระนั้น บาตรก็ใช้บาตรดินที่สีเลอะๆผ้านุ่งผ้าห่มก็ให้เป็นผ้าขาดๆที่ปะเอาไว้ อาหารก็เป็นอาหารปอนๆ คนให้อาหาร ก็เป็นอาหารที่ไม่สวย อสุภกรรมฐาน ซากศพที่เน่าจะเหมาะสำหรับคนราคะจริตนี้ เขาจึงจะคลายราคะได้

การฝึกจิต อิริยาบถ คือ เดินจงกรม จึงเหมาะแก่เขา แม้การจะเพ่งกสิณ ก็ ควรเป็นวรรณกสินที่เป็นสีเขียว ที่ไม่สดใสจึงจะเป็นอารมณ์กำราบกิเลสประจำเรือนใจคนราคะจริตได้

โดยสรุป การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนราคะจริต คือ อสุภกรรมฐาน 10 กับกายคตนานุสสติ 1 นั้นเอง

2. โทสจริต

ลักษณะของคนโทสจริต คือ    คนมักโกรธ หรือขณะนั้นมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้น ทำอะไรก็รีบร้อน กวาดบ้านก็กวาดเร็ว สะอาด แต่ไม่เรียบร้อย เวลายืนก็ยืนขึงขังเหมือนทหาร เวลาปูที่นอนพอนอนได้ก็ทิ้งตัวลงนอน เหมือนกระโดดน้ำ ตอนนอนก็ทำคิ้วขมวดเหมือนนอนคิดด้วย เวลาลุกก็ลุกรวดเร็วเหมือนโกรธ เวลาเดินเดินด้วยอาการ ผลุน ผลัน เวลาเดินปลายเท้าจะขยุ้มจิกลงในดิน

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนโทสจริต

สิ่งที่สามารถกำราบกิเลสประจำใจของคนโทสจริต ที่มิไม่ให้ฟุ้งขึ้น คือ สถานที่ปฏิบัติให้เป็นที่สะอาดสวยงาม ประดับตกแต่งไว้ดีมีกลิ่นสะอาด ทางไปบิณฑบาตก็เป็นทางสะอาดไม่ขรุขระ ผ้าสำหรับที่ใช้ในการปฏิบัติก็เป็นผ้าที่สวยงามเนื้อละเอียด แม้ภาชนะใส่อาหารก็ควรเป็นภาชนะที่สะอาดที่สวยงาม แม้คนบริการอาหาร ก็เป็นคนสวยงามพูดจาไพเราะ มีนิสัยดี แต่งตัวสะอาด แม้อาหรก็เป็นของที่สะอาดประณีต มีสีและกลิ่นสะอาด

อิริยาบถ ในการปฏิบัติธรรมของคนโทสจริต ควรเป็นอิริยาบถนอน หรือนั่งก็ได้

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนโทสจริต คือ ให้เอากรรมฐาน 8 อย่าง คือ พรหมวิหาร 4 วัณณกสิณ 4 (วัณณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว) ทั้ง 8 อย่างนี้เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ เลือกที่เหมาะสมมาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณา อารมณ์โทสะจะค่อย ๆ คลายตัวระงับไป

3. โมหะจริต

ลักษณะของคนโมหะจริต คือ อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง และครุ่นคิดตัดสินใจไม่ค่อยได้นั้น ทำอะไรเงอะงะไม่เรียบร้อย ทำงานละเอียดไม่ค่อยได้ เวลานอนก็ปูที่นอนบ้างไม่ปูที่นอนบ้าง คล้ายหลับตั้งแต่ยังไม่ทิ้งตัวลงนอน ส่วนมากจะนอนคว่ำหน้าปลุกให้ลุกไม่ค่อยลุก มักจะครางอือๆแล้วหลับต่อ เวลาลุกก็ลุกอืดอาดเวลากวาดบ้านก็ไม่สะอาดในบ้างครั้งไม้กวาดหลุดมือก็มี เวลาเดินท่าทางเงอะงะไม่น่าดู เวลายกเท้าเหมือนกับคนกลัวอะไรอยู่นั้นแหละ รอยเท้าของคนโมหะจริตจะเลอะเลือน

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนโมหะจริต

สิ่งแวดล้อมในที่จะฝึกจิตที่เหมาะแก่คนโมหะจริตเช่น เรือนหรือกุฏิ ที่ปฏิบัติไม่แคบหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก หรือทิศโล่งแจ้งได้ตลอด

อิริยาบถที่เหมาะแก่คนโมหะจริต ในการฝึกจิต คือ การเดินจงกรม กสิณที่เหมาะแก่การเพ่งของคนโมหะจริต ใช้ได้ทุกกสิณแต่ควรใช้สีและขนาดให้เหมาะกับจริตของตน ให้เลือกมองดูก่อนถ้าเห็นแล้วไม่รำคาญ ไม่ชวนให้ง่วนงุ่นหรือกล่อมให้หลับ แต่ทำให้เกิดความสดชื่นในอารมณ์ให้เลือกสีนั้น

ขนาดกสิณก็ให้ใช้ขนาดใหญ่ ต้องมีขนาดกว้างขนาดเท่าปากครก หรือขนาดกว้างเป็นศอก จึงเหมาะแก่คนที่โมหะจริต

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนโมหะจริตกับคนวิตกจริต คือ การเจริญอานาปานานุสสติกรรมฐาน อารมณ์ความลุ่มหลงฟุ้งซ่านก็จะสงบระงับ จะเหมาะที่สุด

4. สัททาจริต

คนสัททาจริต จะมีลักษณะเชื่อและวางใจคนอื่น เป็นคนรักความซื่อสัตย์ นอกนั้นมีลักษณะคล้ายกับราคะจริตและพุทธิจริต

การฝึกจิตที่เหมาะ คือ เจริญกรรมฐาน 6 อย่าง คือ อนุสสติ 6 ประการ คือ
1.    พุทธานุสสติกรรมฐาน 
2.    ธัมมานุสสติกรรมฐาน 
3.    สังฆานุสสติกรรมฐาน 
4.    สีลานุสสติกรรมฐาน 
5.    จาคานุสสติกรรมฐาน 
6.    เทวตานุสสติกรรมฐาน 
ทั้ง 6 อย่างนี้จะทำให้จิตใจของท่านที่ดำรงสัทธาผ่องใส

5. พุทธิจริต

คนพุทธิจริตเป็นคนมีปัญญา คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ มีปฏิภาณไหวพริบดี มีความรู้ดีชอบความสวยงามที่ราบเรียบเป็นธรรมชาติไม่ฉูดฉาดไม่ต้องปรุงแต่ง เหมือนคนราคะจริต เป็นคนมีเหตุผลและรอบคอบไม่เหมือนสัททาจริตที่เชื่อเอาไว้ก่อนการฝึกจิตที่

การฝึกจิตที่เหมาะกับคนพุทธจริต คือ ให้เจริญกรรมฐาน 4 อย่าง คือ 
1.    มรณานุสสติกรรมฐาน 
2.    อุปมานุสสติกรรมฐาน 
3.    อาหาเรปฏิกูลสัญญา 
4.    จตุธาตุววัฏฐาน (พิจารณาธาตุ4)


6. วิตกจริต

ลักษณะของคนวิตกจริต คือ คิดฟุ้งซ่านวาดฝันไปกับสิ่งที่เห็น และจะคิดจะทำอะไรซ้ำ ๆ เพราะความไม่แน่ใจไม่มั่นใจ  ตลอดความระแวงจะเป็นปกติของคนวิตกจริต คนวิตกจริตนี้จะมีลักษณะแตกต่างกับคนราคะจริต โทสจริต และพุทธิจริตโดยสิ้นเชิงจะมีลักษณะคล้ายกับ โมหะจริตนั้นแล

การฝึกจิตที่เหมาะแก่คนวิตกจริต

ที่อยู่อาศัยของคนวิตกจริตนั้น ไม่ควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือหันหน้าไปสู่วิวหรือทิวทัศน์อันสวยงาม หรือหันหน้าไปสู่สวนดอกไม้ หันหน้าไปสู่สระน้ำอันสวยงามชวนฝันที่เช่นนี้ไม่เหมาะแก่เขาเลย เพราะจะทำให้จิตเขาเพลินไปตามทิวทัศน์นั้นที่เหมาะที่สุดคือ ถ้ำ ซอกเขา เงื้อม ผา เป็นต้น เพราะจะทำไม่ให้ฟุ้งซ่าน

อารมณ์แห่งกรรมฐานในคนวิตกจริตนี้ให้ยึดถือตามแนวของคนโมหะจริต ต่างแต่เพียงว่าให้ทำกสิณให้มีขนาดเล็กเพียงเท่ากระด้งก็พอ

ดังนั้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ผู้จะให้การฝึกจิตแก่ศิษย์ควรจะตรวจดูจริตนิสัยของลูกศิษย์ หรือคนจะมาฝึกจิตให้รู้ชัดเจนก่อนการฝึกจิตจึงจะได้ผลเต็มที่ หาไม่แล้วการฝึกจิตจะล้มเหลว

การฝึกจิตที่เหมาะกับคนวิตกจริต คือ การเจริญอานาปานานุสสติกรรมฐาน อารมณ์ความลุ่มหลงฟุ้งซ่านก็จะสงบระงับ จะเหมาะที่สุด


กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง 6

จัดไว้เป็น 5 หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะแก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้น ๆ รวม 30 อย่าง หรือ 30 กอง ที่เหลืออีก 10 กอง คือ อรูป 4, ภูตกสิณ 4 (ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ), และอาโลกกสิณ 1, อากาสกสิณ 1, รวมเป็น 10 อย่าง ซึ่งเป็นกรรมฐานเหมาะแก่ย่อมเหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป และแก่ทุกจริต แต่สำหรับอรูปนั้น ถ้าใครต้องการเจริญ ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ ฌาน 4 เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผลสำหรับผู้ฝึกสมาธิใหม่เพราะอรูปละเอียดเกินไป

 

อ้างอิง

อาจารย์สวิงบุญเจิม ป.ธ.9 M.A. ประวัติและของดีสมเด็จลุน หน้า 45-48. สำนักพิมพ์มรดกอิสาน
www.larnbuddhism.com



รูปภาพ - ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต

ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต

บทความอื่นๆ